พบกับโรงบ่มสาเกทั้ง 18 แห่งของโคจิ

เนื่องจากจังหวัดโคจินั้นอยู่ทางใต้ที่ห่างออกไปค่อนข้างไกล คุณจึงอาจจะไม่คิดว่าที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตสาเกหลัก อย่างไรก็ตาม โรงบ่มสาเกทั้ง 18 แห่งของโคจิได้สรรค์สร้างสาเกจำนวนหนึ่งที่ให้ความดรายที่สุดในญี่ปุ่น โดยให้รสชาติที่สมบูรณ์และเข้าคู่ได้เป็นอย่างดีกับอาหารในช่วงงานฉลอง โอะเคียะคุ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมในท้องถิ่น ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้สาเกของโคจินี้พิเศษ และลิ้มลองด้วยตัวคุณเอง!

ทำไมสาเกของโคจิจึงพิเศษ?

รสชาติและเอกลักษณ์ของสาเกนั้นจะแตกต่างกันอย่างมากตามแต่ละภูมิภาคที่บ่ม เนื่องจากภูมิอากาศที่ต่างกัน ประเภทของน้ำและข้าว รวมทั้งประเพณีอาหารท้องถิ่นก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากกับผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนสุดท้าย

การทำสาเกเกี่ยวข้องกับการใช้จุลินทรีย์และยีสต์เพื่อการหมัก การผลิตสาเกในโคจินั้นนับเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่นและชื้น แต่เพราะเหตุนั้นเองโรงบ่มในภูมิภาคนี้จึงขัดเกลาเทคนิคของพวกเขาและเรียนรู้วิธีการควบคุมกระบวนการบ่มอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้สาเกคุณภาพสูงซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยความเฉพาะตัว และผู้บ่มที่พร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น โรงบ่มบางแห่งเคยทำสาเกที่ใช้ยีสต์ซึ่งเคยถูกส่งขึ้นไปเพาะเลี้ยงบนอวกาศ!

ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดสองอย่างสำหรับสาเกที่ดี คือ น้ำที่บริสุทธิ์และข้าวชั้นยอด แม้ว่าโรงบ่มทั้งหมดจะมีรสชาติที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่โรงบ่มทั้ง 18 แห่งในภูมิประเทศที่แตกต่างกันของโคจิมีเหมือนกันคือ พวกเขาต่างก็เข้าถึงน้ำที่บริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โรงบ่มในภูเขาใช้น้ำของแม่น้ำชิมันโตะและนิโยโดะที่ใสราวกับผลึกแก้ว ส่วนที่อยู่ตามชายฝั่งบางที่ใช้น้ำทะเลลึกซึ่งเต็มไปด้วยแร่ธาตุที่แยกเกลือออกแล้ว

ข้าวที่ใช้ในการทำสาเกนั้นถูกเพาะและปลูกขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศที่ชื้น เพิ่มระดับการปรับปรุงในแบบโคจิขึ้นไปอีกขั้น โรงบ่มแต่ละแห่งใช้ทั้งสองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานหลัก และเพิ่มเทคนิคพิเศษและทักษะของตนซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเข้าไปเพื่อผลิตสาเกคุณภาพชั้นเลิศ

แม้ว่าโรงบ่มแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน แต่สาเกที่บ่มในโคจิจำนวนมากจะผลิตเป็นแบบดรายอย่างมีเอกลักษณ์ (แทนแบบหวาน) ความชื่นชอบในแบบดรายที่สดชื่นนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอาหารท้องถิ่น เนื่องจากอาหารหลายเมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโคจิมักจะมีรสที่เข้มข้น ใช้ปลาเนื้อแดงแน่นอย่างคัทสึโอะ โนะ ทะทะคิ (ปลาโอย่างลนไฟ) หรือปลาเนื้อขาวอย่างปลาซาบะ สาเกดรายเข้าคู่ได้ดีกับรสชาติที่โดดเด่นเหล่านี้ได้ดีกว่ามาก เนื่องจากไม่ขัดรสกัน

สุราที่ใช้สาเกเป็นหลักนี้เริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น และเครื่องดื่มที่ใช้ผลไม้รสเปรี้ยวที่ปลูกในโคจิอย่าง ยูซุ และ นาโอะชิจิ ก็ได้รับความนิยมเป็นพิเศษด้วยกลิ่นที่หอมและสดชื่น

เยี่ยมชมโรงบ่มสาเกของโคจิ

โรงบ่มสาเกของโคจิหลายแห่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม รวมทั้งยังมีบริการทัวร์และการทดลองชิมสำหรับนักชิมที่มองหาการลองลิ้มรสสาเกจากแหล่งผลิตในพื้นที่โดยตรง นี่คือโรงบ่มซึ่งต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนและเข้าถึงได้ง่ายที่เราแนะนำบางแห่ง:

・โรงบ่มนิชิโอคะ ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโคจิ ก่อตั้งเมื่อปี 2324 ที่นี่มีอาคารอายุ 240 ปี ซึ่งมีการตกแต่งภายในที่ค่อนข้างใหญ่โตพร้อมด้วยเสน่ห์ดึงดูดทางประวัติศาสตร์ หลังจากทัวร์ชมโรงบ่มแล้ว คุณสามารถเพลิดเพลินกับการชิมสาเกได้ฟรี สามารถเดินมาที่นี่จากสถานีโทะสะ-คุเระประมาณ 5 นาที และเดินทางมาโดยรถไฟจากสถานีโคจิไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

・ โรงบ่มสึคาสะโบตัน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองสะคะวะแบบเรโทรอันมีเสน่ห์เป็นอีกสถานที่ดีๆ อีกแห่งหนึ่งที่เหมาะสำหรับการเดินทางไปเช้าเย็นกลับ โดยเฉพาะในช่วงฤดูซากุระบาน โรงบ่มนี้มีโกดังที่ยาวเป็นพิเศษ (เป็นที่หมักสาเก) ซึ่งใช้พื้นที่เกือบทั้งอาคาร โดยคุณต้องจองทัวร์ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน และสามารถมาที่โรงบ่มนี้ได้ด้วยรถไฟด่วนจากเมืองโคจิ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที

・โรงบ่มซุยเง ที่เข้าถึงได้ยากสักหน่อยแต่ก็คุ้มค่าความพยายาม ด้วยพื้นที่ชิมสาเกและคาเฟ่ซึ่งอยู่ในอาคารโมเดิร์นแบบมินิมอล เป็นข้อบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าโรงบ่มแห่งนี้มีความสุขกับการทำให้เหนือความคาดหวังของผู้คน ที่นี่มีทัวร์ 3 ครั้งต่อวัน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ (ต้องทำการจอง) ซึ่งรวมถึงการลองชิมสาเกรสเลิศสองชนิด นอกจากนี้คาเฟ่ยังให้บริการของหวานไร้แอลกอฮอล์ที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย โดยสามารถเดินทางมาที่โรงบ่มแห่งนี้ด้วยรถยนต์จากเมืองโคจิซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 นาที หรือนั่งรถแท็กซี่จากสถานีสะคะวะมาประมาณ 20 นาที

โปรดทราบว่าอาจมีกรณีที่โรงบ่มไม่เปิดให้เข้าชม กรุณาตรวจสอบก่อนการวางแผนเดินทางไปเยี่ยมชม

อะไรที่เข้าคู่ได้ดีกับสาเกโคจิ

อาหารท้องถิ่นและการบ่มสาเกนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง การเลือกของขึ้นชื่อของโคจิมาจับคู่กันกับสาเกของโรงบ่มใดโรงบ่มหนึ่งใน 18 แห่งนั้นเป็นอะไรที่ต้องลอง ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะสั่งสาเกอะไร พนักงานของร้านอาหารก็ยินดีที่จะแนะนำสาเกที่เข้ากันได้ดีกับอาหารที่คุณสั่ง

ในญี่ปุ่นนั้นมีคำพิเศษสำหรับของว่างที่เข้ากันได้ดีและมักกับประทานกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งก็คือ โอซึมามิ หนึ่งในตัวเลือกของนักชิมผู้ชื่นชอบของแปลกใหม่ที่มาเยี่ยมเยือนโคจิคือ “ชุโท” ซึ่งทำจากเครื่องในของปลาโอ โดยเป็นชื่อที่เขียนมาจากตัวอักษรคันจิสำหรับ “สาเก” และ “การขโมย” ซึ่งบอกไว้เป็นนัยว่าเข้ากันได้อย่างดีกับสาเกจนอาจหมดแก้วไปก่อนที่คุณจะรู้ตัว! ว่ากันว่าเจ้าของปราสาทโคจิเป็นแฟนตัวยงของชุโท

อีกจานที่ต้องลองคือ “โดะโระเมะ” ซึ่งเป็นปลาเล็กที่แช่ในมิโสะผสมน้ำส้มสายชู ซึ่งเข้าคู่ได้ดีกับสาเกดรายที่สดชื่น

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดคืออาหารงานฉลองอันเป็นที่รัก อาหารซะวะจิ ปลาดิบสดใหม่ชิ้นใหญ่ ซูชิ จานผัก ของทอดต่างๆ (และอื่นๆ) นั้นจะได้รับการจัดเรียงอย่างสวยงามเป็นจำนวนมากบนจานขนาดใหญ่และเสิร์ฟในงานฉลอง ร้านอาหารหลายแห่งในโคจิเสนอเซ็ต “มินิซะวะจิ” ให้ผู้ที่มาเยือนได้ลองลิ้มชิมรสของขึ้นชื่อต่างๆ ในขนาดที่เหมาะสมมากขึ้น

เกมการดื่มตามประเพณีของโคจิ

ผู้คนที่โคจิชื่นชอบงานฉลองที่ดีและมีเกมตามประเพณีที่มักเล่นในการรวมตัวโอะเคียะคุ

■เค็มไปและเฮ็มไป
นี่คือวิธีการเสิร์ฟเครื่องดื่มในแบบฉบับโคจิจริงๆ ก่อนอื่นสมาชิกที่อายุน้อยกว่าของกลุ่มจะนำแก้วตัวเองไปให้กับสมาชิกที่อาวุโสมากกว่า แล้วจึงเทสาเกลงไปในแก้ว สมาชิกอาวุโสต้องดื่มจากแก้วนั้นจนหมด: สิ่งนี้เรียกว่า เค็มไป ต่อมาสมาชิกที่อาวุโสจะเทสาเกใส่แก้วเดิมแล้วคืนให้ผู้ที่นำมา: สิ่งนี้เรียกว่า เฮ็มไป นี่เป็นวิธีการที่ดีในการทำความรู้จักกันและละลายพฤติกรรม

■เบะคุไฮ
คุณอาจเห็นชุดแก้วสาเกที่มีความประณีตซึ่งมีลักษณะเหมือนกับใบหน้าที่ร้านอาหารบางแห่งในโคจิ ในเกมนี้ทุกคนจะเล่นโดยผลัดกันหมุนลูกข่างเพื่อตัดสินแก้วที่พวกเขาต้องดื่ม หนึ่งในนั้นคือ “แก้วทริค” ซึ่งมีรูเล็กที่คุณต้องใช้นิ้วปิด ที่ออกแบบมาเพื่อให้คุณไม่สามารถวางแก้วลงได้จนกว่าดื่มสาเกทั้งหมด!

■ฮะชิเค็น
เกมการดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ของโคจิอีกประเภทหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน โดยแต่ละคนจะถือตะเกียบ 3 อัน ไว้ด้านหลัง จากนั้นแต่ละฝ่ายจะยื่นแขนออกไปข้างหนึ่งโดยยังซ่อนตะเกียบจำนวนหนึ่งไว้ แล้งจึงเปิดเผยว่าทั้งสองคนถืออยู่กันคนละกี่อัน เป้าหมายของเกมก็คือการทายจำนวนตะเกียบทั้งหมดที่เล่นไป คงไม่ต้องบอกว่าผู้ที่แพ้ต้องดื่มสาเกหมดทั้งแก้ว และยิ่งถ้าเล่นต่อก็จะยิ่งเดาได้ยากขึ้นอีก ในทุกๆ ปีจะมีการจัดทัวร์นาเมนต์ในวันที่ 1 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสาเกของญี่ปุ่น